อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ภาษา
ประวัติความเป็นมา

---ไม่มีข้อมูล---

ประวัติความเป็นมา
อำเภอเชียรใหญ่ได้จัดตั้งสำนักทะเบียนสาขาสวนหลวง เพื่อบริการประชาชนในท้องที่ตำบลสวนหลวง ตำบลดอนตรอ และตำบลเชียรเขา เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๖ โดยใช้บ้านนายเปี่ยม ชูจันทร์ เลขที่ ๑๔๐ หมู่ที่ ๑ ตำบลสวนหลวง เป็นสำนักงานและมีนายเกรียงศักดิ์ รักษ์ศรีทอง เป็นปลัดอำเภอหัวหน้าสาขา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๗ นายองอาจ สนทะมิโน นายอำเภอเชียรใหญ่ในขณะนั้น ได้เสนอขอจัดตั้งกิ่งอำเภอสวนหลวงครอบคลุมพื้นที่สามตำบลคือ ตำบลสวนหลวง ตำบลดอนตรอ ตำบลเชียรเขา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๘ ได้เสนอจัดตั้งอำเภอสวนหลวงกาญจนาภิเษก ตามโครงการจัดตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ โดยจังหวัดได้ขอโอนพื้นที่ตำบลทางพูน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีพื้นที่ติดติดต่อกันให้มาขึ้นกับอำเภอสวนหลวงกาญจนาภิเษกด้วย คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เห็นชอบให้จัดตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศ จำนวน ๕ แห่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการใช้ชื่ออำเภอทั้ง 5 แห่ง พร้อมทั้งใช้ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี เพื่อประดับไว้ ณ อาคารที่ว่าการอำเภอ เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลสืบไป โดยใช้ชื่อเหมือนกันทั้ง ๕ แห่งว่า "อำเภอเฉลิมพระเกียรติ" โดยมีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๓ ตอนที่ ๖๒ ก. ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ มีผลบังคับใช้วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ "ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ การอำนวยความสะดวกของประชาชนและส่งเสริมท้องที่ให้เจริญ ตลอดจนเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี"
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้เปิดบริการประชาชนมาตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ โดย ตั้งที่ว่าการอำเภอชั่วคราวที่อาคารโรงเรียนวัดสระไคร หมู่ที่ ๙ ตำบลเชียรเขา และได้สร้างอาคารที่ว่าการอำเภอ เมื่อปี ๒๕๓๙ บนที่ดินสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ ๖๘ ไร่ ๓ งาน ๒ ตารางวา และได้เปิดบริการประชาชนมาตั้งแต่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ โดยมี นายประมุข ลมุล ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเป็นคนแรกซึ่ง มีพื้นที่ประกอบด้วย ตำบลเชียรเขา ตำบลสวนหลวง ตำบลดอนตรอและตำบลทางพูน
วิสัยทัศน์

"เมืองแห่งเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง คนดีมีคุณภาพ"

พันธกิจการพัฒนาท้องถิ่น

1. ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพภาคเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ควบคู่กับการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน
2. พัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นสินค้าชั้นนำ
3. พัฒนาคนให้มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม นำความรอบรู้อย่างเท่าทัน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชน เข้มแข็ง
4. พัฒนาทักษะ และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ในการบริหารจัดการงานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมดุล
5. ดำรงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่คู่บ้านเมือง
6. เสริมสร้างความร่วมมือของประชาชนในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

ประเด็นยุทธศาสตร์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาภาคการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนฐานความรู้และวัฒนธรรมหลากหลาย
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน